วัดคูหาสวรรค์วรวิหาร นี้ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สังกัดมหานิกาย เลขที่วัด ๒๓๓ ซอยเพชรเกษม ๒๘ แขวงคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ เป็นวัดโบราณสร้างตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีอยู่ แต่ใครจะเป็นผู้สร้างนั้นไม่ปรากฏหลักฐาน เดิมเรียกชื่อว่า “วัดศาลาสี่หน้า” ดังปรากฏตามแผนที่วัดสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนาให้เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิด วรวิหาร แต่ตามหลักฐานรับรองสภาพวัดของ กองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ปรากฏว่าตั้งวัด เมื่อพ.ศ. ๒๓๒๐ และรับวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๐ วัดนี้เดิมเป็นวัดราษฎร์และเป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณวัดคูหาสวรรค์ ฯ หรือวัดศาลาสี่หน้านี้ เคยเป็นเมืองธนบุรีเดิม โดยมีประเด็นสนใจว่า “เมืองธนบุรีเดิมตั้งอยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ตรงวัดคูหาสวรรค์ หรือที่เรียกว่า วัดศาลาสี่หน้า๑ เมื่อรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราช สมัยกรุงศรีอยุธยา โปรดให้ขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยในปัจจุบัน มาถึงคลองบางกอกใหญ่ ที่ตรงวัดอรุณราชวราราม คลองนั้นนานมากลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา จึงย้ายเมืองธนบุรีมาตั้งป้อมปราการขึ้นที่ตรงวัดอรุณราชวราราม ปรากฏในพงศาวดารครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายสมัยกรุงศรีอยุธยา ว่า โปรดให้เจ้าพระยาวิชเยนทร์เป็นแม่กองสร้างป้อมขึ้นที่เมืองธนบุรี”1 และเมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี มีความปรากฏในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องวัดสมอราย ฉบับโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ร.ศ. ๑๒๕ หน้า ๙ ตอนหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงดำริห์จะซ่อมแซมสร้างพระอาราม ซึ่งร้างชำรุดทรุดโทรมทั่วไป จึงทรงปันเป็นส่วน ๆ ยกไว้เป็นส่วนพระบรมมหาราชวัง ทรงปฏิสังขรณ์ เช่นวัดโพธิ์ เป็นวัดพระเชตุพน วัดสะแก เป็นวัดสระเกศ วัดเรียบ เป็นวัดราชบูรณะ วัดทอง เป็นวัดสุวรรณ ทรงสร้างวัดสุทัศน์เทพวราราม วัดทั้งนี้ทรงปฏิสังขรณ์และสร้างขึ้นโดยประณีต ดุจหนึ่งวัดทำใหม่ทั้งสิ้น ส่วนที่เป็นแต่ปฏิสังขรณ์ เช่นวัดท้ายตลาดโมฬีโลก วัดพลับราชสิทธาราม จนกระทั้งถึงวัดศาลาสี่หน้า ที่เปลี่ยนชื่อเป็น วัดคูหาสวรรค์ เป็นที่สุดทรงปฏิสังขรณ์แต่พอใช้ได้ และในครั้งรัชการที่ ๑ นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดให้อัญเชิญพระพุทธปฎิมากรปางนั่งสมาธิราบ ขนาดหน้าตัก ๕ ศอกคืบ ๔ นิ้ว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่งดงามมากและเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดคูหาสวรรค์นี้ ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพน ทรงขนานพระนามว่า “พระพุทธเทวปฏิมากร” ซึ่งยังปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้สร้างพระประธานขึ้นใหม่ สำหรับประดิษฐานเป็นพระประธานแทนพระพุทธเทวปฏิมากร ที่โปรดให้อัญเชิญไปนั้นและโปรดให้สถาปนาพระอุโบสถศาลาการเปรียญและเสนาสนะขึ้นอีกเป็นอันมาก เมื่อสถาปนาสำเร็จบริบูรณ์แล้ว จึงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดคูหาสวรรค์”